การเจาะตับเพื่อวินิจฉัยโรคเสี่ยงมากน้อยเพียงใด

โดยทั่วไปผลแทรกซ้อนซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเจาะตับพบได้ 0.5 – 6.5 เปอร์เซ็นต์ เช่น ภาวะเลือดออกในช่องท้องอาจพบได้ 0.03 – 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือเกิดได้ประมาณ 3 ใน 10,000 ถึง 1 ใน 1,000 ราย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องการตรวจด้วยวิธีเจาะตับ อย่างไรก็ตามถ้าทำตามมาตรฐาน เช่น ใช้เครื่องอัลตราซาวนด์นำทางและสังเกตอาการผู้ป่วยนานอย่างน้อย 6 – 24 ชั่วโมงหลังทำหัตถการ ก็จะช่วยลดผลแทรกซ้อนลงได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าสมควรเจาะตับหรือไม่จากข้อบ่งชี้ ข้อห้ามประโยชน์ที่ได้จากผลชิ้นเนื้อตับจะเปลี่ยนแปลงการรักษาหรือไม่ รวมถึงแนวทางเลือกอื่นๆ ที่อาจใช้ประเมินภาวะพังผืดในตับ ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการตรวจหาพังผืดในตับโดยไม่ต้องเจาะตับซึ่งก็ มีหลายวิธีที่มีข้อมูลวิจัยสนับสนุนอยู่ เช่น การตรวจเลือด Fibrosis test ที่ช่วยจำแนก ความรุนแรงของพยาธิวิทยาของตับได้ว่ามีพังผืดมากน้อยเพียงใด ปัญหาคือมีราคา แพงอยู่มากและยังไม่มีใช้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเครื่องวัดความยืดหยุ่นของตับหรือ Transient Elastography (FibroScanR) โดยเครื่องไฟโบรสแกนมีหลักการที่สามารถส่งคลื่นความถี่ระดับ 50 Hz ผ่านบริเวณตำแหน่งที่ใช้ในการเจาะตับคือบริเวณด้านสีข้างตัดกับแนวลิ้นปี่โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย คลื่นดังกล่าวจะวัดความยืดหยุ่นของตับในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังลงไปประมาณ 1 – 2.5 นิ้ว ส่วนขนาดของเนื้อตับที่ตรวจวัดก็มีขนาด 1 x 4 ซม. ซึ่งมีปริมาตรที่มากกว่าชิ้นเนื้อจากการเจาะตับถึง 100 เท่า ปัจจุบันสามารถตรวจได้ในโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง รวมทั้งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย แต่ข้อจำกัดคือ ยังไม่มีใช้อย่างแพร่หลายและค่าที่วัดได้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้โดยเฉพาะในคนที่อ้วนมากๆ

ที่มา : หนังสือ ไขรหัสตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็ง


← กลับไปหน้ารายการ