ประวัติตึกจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ตึกจักรพงษ์

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (3 มีนาคม พ.ศ. 2426-13 มิถุนายน พ.ศ. 2463) ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ มีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน ได้ทรงกระทำคุณประโยชน์ในการสร้างความเจริญของกองทัพไทย และส่วนราชการอื่น ๆ หลายแห่ง พระองค์ยังได้เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสถานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภากาชาดไทย ทรงมีส่วนริเริ่มในการก่อตั้งสภากาชาดไทย และทรงดำรงตำแหน่ง อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทยพระองค์แรก ทรงดำริวางระเบียบการ และสร้างความเจริญให้แก่สภากาชาดโดยรอบด้าน อันเป็นประโยชน์ในการเกื้อกูลประชาชนซึ่งเจ็บไข้ได้อย่างดีต่อไป

ตึกจักรพงษ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2466 ด้วยเงินบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน เพื่อให้เป็นอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติคุณของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งได้เสด็จทิวงคต โดยสภากาชาดไทยได้มีการประกาศแจ้งความไปยังมณฑลหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อชักชวนประชาชนร่วมกันบริจาคทรัพย์บำเพ็ญกุศลถวายด้วยสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ ในการสร้างตึกจักรพงษ์นั้น นายเอ็ดเวิรด ฮีลีย (Mr. Edward Healey) สถาปนิกชาวอังกฤษผู้มีผลงานออกแบบ วังเทวะเวสม (Devaves) และ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบ และพระยาศิลปศาสตร์โสภิต (E.G. Gollo) ชาวอิตาเลียนผู้มีผลงานออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นวิศวกรคุมการก่อสร้าง เมื่อแล้วเสร็จ ได้ทำการเปิดตึกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2466 ลักษณะเป็นอาคารทรงยุโรป แต่ได้ประยุกต์เป็นอาคารสำหรับเมืองร้อน เป็นตึกขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีจุดมุ่งหมายจะสร้างในแนวเดียวกับตึกอำนวยการเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการตรวจและจ่ายยาแก่คนไข้ในขณะนั้น

ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตึกจักรพงษ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภก สภากาชาดสยาม เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาทรงเยี่ยม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดสยาม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2469 ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา หรือ พระมเหสีในรัชกาลที่ 5) องค์สภานายิกาสภากาชาดสยาม ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับเสด็จ พร้อมด้วยคณะกรรมการสภากาชาดสยาม ที่ตึกจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2480 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า องค์สภานายิกาสภากาชาดสยาม ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำ แก่คณะกรรมการสภากาชาดสยาม ณ ตึกจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านไป 90 ปี วันที่ 13 กันยายน 2559 เป็นวันที่จะต้องถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลาของตึกจักรพงษ์ ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคตับ อันถือเป็นครั้งที่ 3 ที่พระมหากษัตริย์ หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ณ ตึกจักรพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 


← กลับไปหน้ารายการ