ข้อบ่งชี้ของการเปลี่ยนตับ
- โรคตับอักเสบเฉียบพลันและตับวายชนิดรุนแรงจนมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
- โรคตับแข็งระยะท้ายจนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น บวม มีน้ำในช่องท้อง โปรตีนอัลบูมินต่ำมาก และมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- โรคตับแข็งระยะท้าย เมื่อผู้ป่วยมีน้ำในท้องร่วมกับการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง
- โรคมะเร็งตับแบบปฐมภูมิ (Hepatoma) โดยมีก้อนเดียวขนาดเท่ากับ 5 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า หรือกรณีมีไม่เกิน 3 ก้อนในตับ โดยแต่ละก้อนมีขนาดเท่ากับ 3 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า และมะเร็งจะต้องไม่กระจายไปยังหลอดเลือดขนาดใหญ่ของตับ หรือกระจายออกนอกตับ
- เป็นโรคตับแข็งจนผู้ป่วยมีอาการเพลียมากจนทำงานไม่ได้ คันมากจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น
แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการของโรคตับมาก และมีข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนตับก็ตาม สิ่งที่แพทย์จะต้องประเมินอีกด้านคือ มีข้อห้ามในการทำการเปลี่ยนตับหรือไม่ เพราะถ้าทำไป ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตหลังการเปลี่ยนตับจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หรือมะเร็งตับมีการกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกายในเวลาไม่นานหลังการเปลี่ยนตับ
ข้อห้ามของการเปลี่ยนตับ
- มะเร็งตับที่เกิดจากมะเร็งของท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในทางภาคอีสานหรือภาคเหนือของไทย
- มะเร็งตับที่กระจายมาจากที่อื่น เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่กระจายมาที่ตับ
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเชื้อไวรัสเฮชไอวี (HIV) ระยะที่ภูมิต้านทานต่ำและเกิดโรคแทรกซ้อน และควบคุมโรคไม่ได้ (AIDS)
- มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมในการทำผ่าตัดใหญ่ เช่นโรคหัวใจขาดเลือดที่รุนแรง
- อายุมากเกินควร โดยมักจะไม่ทำการเปลี่ยนตับในผู้ป่วยอายุเกิน 65 ปี แต่ก็อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ที่มา : หนังสือรู้ทันโรคตับ รู้ลึกเรื่องเปลี่ยนตับ