ชีวิตหลังเปลี่ยนตับ

ผู้ป่วยหลังการเปลี่ยนตับแล้วส่วนใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ใกล้เคียงกับคนปกติ มักมีผู้ถามเสมอว่า เปลี่ยนตับแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร ตามที่ทราบแล้วว่า การเปลี่ยนตับถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 คือประมาณสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และเริ่มสำเร็จจริงๆ ประมาณ 10 ปีให้หลัง ฉะนั้นปัจจุบันคนที่เปลี่ยนตับแล้วยังมีชีวิตรอดอยู่นานที่สุดก็ประมาณ 30 กว่าปี และก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อๆ ไป สำหรับของโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับเมื่อยี่สิบปีก่อน ขณะนี้คนที่ได้รับการเปลี่ยนตับเมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ยังมีชีวิตอยู่ บางคนแต่งงาน มีลูก ใช้ชีวิตทำมาหาเลี้ยงชีพตามปกติ บางคนแข็งแรง มีสุขภาพทั้งกายและใจสมบูรณ์ เป็นนักกีฬาระดับชาติได้รับเหรียญทอง บางคนจากเดิมที่ใกล้จะเสียชีวิต ก็กลับไปทำงานได้ตามปกติมีสมองที่กลับมาทำงานดีขึ้น ผู้ได้รับการเปลี่ยนตับของเราท่านหนึ่ง สามารถไปแข็งขันหมากฮอส ซึ่งต้องใช้สมองและปฏิภาณไหวพริบเป็นอย่างมาก

เป้าหมายหลักของการรักษาด้วยการเปลี่ยนตับคือ การมีชีวิตรอดกลับไปและใช้ชีวิตตามปกติอย่างมีคุณภาพที่ดี ในระยะต้นหลังการเปลี่ยนตับสามเดือนแรกอาจต้องมาติดตามพบหมอบ่อยทุก ๆ สองถึงสี่อาทิตย์ ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ยังมีอาการเจ็บบริเวณแผลที่ผ่าตัดอยู่เล็กน้อย แต่ก็ดีวันดีคืน เริ่มกลับไปทำงานได้ในระยะสองถึงสามเดือน ในระยะสามเดือนแรกยังต้องทานยาอยู่หลายชนิด ยาที่สำคัญคือยากดภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้ตับที่เปลี่ยนไปถูกทำลายโดยร่างกาย อาหารการกินต้องอยู่ในความระมัดระวังจะต้องเป็นของสุก สะอาด ไม่ไปในสถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น สถานที่ ที่มีคนแออัด ไม่ไปบริเวณสวนสาธารณะที่มีนกพิราบมาก เพราะต้องระวังการติดเชื้อราบางประเภท แต่พอผ่านพ้นสามเดือนแรกไป มักจะเหลือยาที่ต้องทานคือยากดภูมิอยู่สองชนิด และปริมาณยาต่อวันก็จะลดลงเรื่อย ๆ การออกกำลังกายก็ทำได้มากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป อาหารการกินต่างๆ ก็มีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะยากดภูมิลดลงไปตามลำดับ ผ่านปีแรกไป บางท่านเหลือเพียงยาหนึ่งถึงสองเม็ดเช้าเย็น กลับมาเจอแพทย์เพียงสองถึงสามเดือนครั้ง เมื่อผ่านไปหลายๆ ปีก็มาพบแพทย์ทุกสี่ถึงหกเดือน ค่าใช้จ่ายสำหรับค่ายากดภูมิก็ลดลงเรื่อย ๆ โอกาสการติดเชื้อต่างๆ ก็ลดลง เรียกได้ว่ามีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติ ตามอายุขัย เว้นเสียแต่ว่าต้องทานยาทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตหลังผ่าตัดบางครั้งก็ไม่ราบเรียบเสมอไป ถึงแม้จะมีชีวิตที่ดีกว่าระยะก่อนเปลี่ยนตับ มีผู้ป่วยประมาณสิบถึงสิบห้าเปอร์เซ็นต์ที่ยังต้องแวะเวียนกลับมาพบแพทย์บ่อยกว่าที่ควร เพราะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บางครั้งก็รุนแรง จำเป็นต้องเข้านอนโรงพยาบาลเพื่อการตรวจรักษาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีการอักเสบของตับจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ “ภาวะต้านตับ” ซึ่งการวินิจฉัยจะต้องเข้านอนโรงพยาบาลเพื่อเจาะตับด้วยเข็มขนาดเล็กเพื่อดูดเนื้อตับเป็นเส้นเล็ก ๆ และนำไปตรวจดูโดยพยาธิแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีภาวะต้านตับเกิดขึ้น แต่มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพื่อให้ยากดภูมิที่แรงขึ้นเพื่อยับยั้งการอักเสบของตับ และเกือบทั้งหมดก็จะผ่านพ้นภาวะต้านตับไปได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องเพื่อตรวจท่อน้ำดี เพื่อทำการขยายท่อน้ำดีที่ตีบ และยังมีภาวะอื่นๆ อีก ที่ทำให้ผู้ป่วยจะต้องกลับเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง

ฉะนั้น จำเป็นที่ทั้งผู้ป่วยและญาติจะต้องทำความเข้าใจและถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์และทีมงานเปลี่ยนตับให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่ามองเฉพาะแง่ดีหรือแง่ร้ายด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว และจะต้องมองชีวิตหลังการเปลี่ยนตับแบบระยะยาว จะมีชีวิตต่อไปข้างหน้าอย่างไร คนรอบข้างจะเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตไปตลอดชีวิตจะมาจากที่ใด เมื่อพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว จึงตัดสินใจที่จะทำการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนตับ

ที่มา : หนังสือรู้ทันโรคตับ รู้ลึกเรื่องเปลี่ยนตับ


← กลับไปหน้ารายการ