โรคตับนับเป็นโรคสำคัญที่กัดกร่อนชีวิตคนไทยนับจำนวนหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคตับนั้นต้องมีองค์ประกอบหลายประการ ทั้งทางด้านความรู้ที่ก้าวหน้า ความร่วมมือของหลายฝ่ายในระบบงานของโรงพยาบาล และที่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของผู้ป่วย และญาติพี่น้อง เพื่อให้ถึงซึ่งการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ศูนย์โรคตับแต่เดิมนั้นได้ถือกำเนิดมาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี โดยในระยะแรกนั้น มุ่งเป้าหลักคือ ผู้ป่วยโรคตับระยะท้าย ผู้ป่วยมะเร็งตับ จนถึงระยะการเปลี่ยนตับและการดูแลระยะหลังการเปลี่ยนตับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจัดการบริการทางการรักษาพยาบาลในระดับ ตติยะภูมิ การจะดำเนินงานเพื่อให้ถึงเป้าหมายแห่งคุณภาพนั้น ยังต้องการกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเพื่อต่อเติม และ เสริมช่องว่างของการดูแลรักษาที่มีอยู่ โดยทั้งหมดนั้นเกิดจากความทุ่มเท ทั้งกำลังกายและกำลังใจ ให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ตลอดปี ไม่เว้นวันหยุดใด ๆ โดยงบประมาณการดำเนินทั้งหมดนั้น ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาจากภายนอก ในระยะสี่ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์โรคตับ และ ฝ่ายประชาชน อันประกอบด้วยผู้ป่วยโรคตับระยะท้าย ผู้ได้รับการเปลี่ยนตับจำนวนมาก ได้ร่วมกันจัดตั้งชมรม ในนามของ “ชมรมคนรักษ์ตับ” เพื่อให้เกิดความร่วมมือของการดูแลรักษาพยาบาลอย่างครบวงจร อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการประสานการดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ
ศูนย์โรคตับ มีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญในระดับโรงพยาบาล คือการพัฒนาการบริการอย่างครบวงจร ในลักษณะของ one stop services พัฒนาการเรียนการสอน และงานวิจัยด้านโรคตับ โดยสื่อประสานเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นอกจากการพัฒนาข้างต้น ทางศูนย์โรคตับ และชมรมคนรักษ์ตับ ยังเน้นความสำคัญของการป้องกันโรคตับ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักรู้ถึงภยันตรายของโรคตับ เพื่อให้ถึงซึ่งการป้องกัน และได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น อันเป็นปราการด่านสำคัญ เพื่อลดภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะท้าย โดยมีกิจกรรม ต่าง ๆ หลายประการ เช่น การจัดเสวนาด้านโรคตับ การจัดกิจกรรมค่ายคนรักษ์ตับ การจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านโรคตับภายนอกโรงพยาบาล การจัดทำหนังสือด้านโรคตับสำหรับประชาชน การจัดประชาสัมพันธ์การให้ความรู้ผ่านสื่อวิทยุ ทีวี หรือสื่อทางอินเตอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ไลน์ เป็นต้น
จนถึงปัจจุบันทางศูนย์โรคตับ โดยความร่วมมือของสมาชิกชมรมคนรักษ์ตับจำนวนนับหลายร้อยคน ได้เห็นซึ่งความสำคัญของการจัดบริการของศูนย์โรคตับที่ผ่านมา และเพื่อให้การพัฒนางานเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งศูนย์งานอย่างเป็นทางการ และได้รับความกรุณาจากฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ลงนามอนุญาตให้จัดตั้งศูนย์โรคตับอย่างเป็นทางการในนามของ “ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559